ประวัติ

ประวัติสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม 

          สถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม  มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน โดยมีความเปลี่ยนแปลงภายใต้พระราชบัญญัติ ถึง 6 ฉบับ จึงขอสรุปประวัติความเป็นมาของสถาบันวิจัยและพัฒนา เป็นช่วง ๆ  ตามพระราชบัญญัติ  คือ

 

         ช่วงที่ 1 พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู  พุทธศักราช พ.ศ. 2518-2526

           ตาม  พ.ร.บ.วิทยาลัยครู  พ.ศ. 2518 ได้กำหนดให้มีแผนกบริการการศึกษา  อยู่ในสังกัดของสำนักงานอธิการบดี มีการบริหารงานโดยคณะกรรมการทุกคนทำงานด้วยความสมัครใจ กำหนดบทบาทหน้าที่บริการวิชาการแก่ชุมชน  โดยงานบริการวิชาการ  ในช่วงนั้นเน้นการอบรมทักษะการสอนและการสร้างสื่อให้แก่ครู   สังกัดกรุงเทพมหานคร ในพื้นที่เป้าหมายมีการแบ่งกันดูแลรับผิดชอบในสหวิทยาลัยรัตนโกสินทร์ ในส่วนของจันทรเกษมได้รับมอบหมายให้ดูแล 8 เขต  คือ มีนบุรี  หนองจอก ลาดกระบัง พระโขนง  บางกะปิ พญาไท ห้วยขวาง บางเขน  ให้การอบรมวิชาทั่วไปแก่ครู เช่น เทคนิคการสอนและการสร้างสื่อคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ฯลฯ  สถานที่อบรมใช้สถานที่ของเขต  หรือโรงเรียนตามความเหมาะสมเป็นศูนย์กลางการอบรม จนถึงปี พ.ศ. 2521 มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรประถมศึกษา  วิทยาลัยครูจันทรเกษมได้เลือกโรงเรียนวัดปลูกศรัทธา เขตลาดกระบัง เป็นโรงเรียนทดลองปฏิบัติการตามหลักสูตรใหม่  แผนกบริการการศึกษาจึงได้ร่วมกับฝ่ายฝึกสอนของคณะวิชาครุศาสตร์ วิทยาลัยครูจันทรเกษม  จัดโรงเรียนตัวอย่างที่โรงเรียนวัดปลูกศรัทธา และต่อมาแผนกบริการการศึกษาได้ใช้โรงเรียนวัดปลูกศรัทธาเป็นศูนย์กลางในการอบรมสัมมนาอีกหลายโครงการ รวมทั้งการอบรมวิชาชีพให้แก่แม่บ้าน  และผู้สนใจเพิ่มขึ้นอีกด้วย เช่น อบรมเพาะเห็ด อบรมประดิษฐ์ดอกไม้แห้งและสด ฯลฯ

          ต่อมาในช่วงปลายปี พ.ศ. 2524 หัวหน้าแผนกบริการการศึกษา ได้รับตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นคือ เป็นผู้ประสานงานโครงการ อ.ค.ป. (โครงการอบรมครูประจำการ) มีที่ตั้งอยู่ ณ สำนักส่งเสริม  วิชาการในปัจจุบัน ในขณะนั้นงานการรับนักศึกษาภาคค่ำอยู่ในส่วนของฝ่ายบริการการศึกษา กอปรกับคณะวิชาครุศาสตร์ต้องการห้องทำงานคืน ที่ทำงานของแผนกบริการการศึกษาจึงได้ย้ายขึ้นมา ณ  ตึกสำนักงานอธิการบดี อาคาร 4 ชั้น  2 ห้อง 426

          พ.ศ. 2527 ได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติวิทยาลัยครูเพิ่มเติม พุทธศักราช  2518 ครั้งที่  2  มีผลกระทบต่อ  โครงสร้างของหน่วยงาน  โดยเฉพาะแผนกบริการการศึกษา  เปลี่ยนเป็นศูนย์ฝึกอบรมและบริการวิชาการ  แต่โครงสร้างการบริหารก็ยังไม่ชัดเจนนัก  จนปี พ.ศ. 2528  ศูนย์ฝึกอบรมและบริการวิชาการได้ยุบรวมกับศูนย์วิจัย  เปลี่ยนเป็นศูนย์วิจัยและบริการการศึกษา  มีฐานะเทียบเท่าคณะวิชา มีการแบ่งงานเป็น  3  ฝ่าย ได้แก่ 1) ฝ่ายวิจัยและเผยแพร่ 2) ฝ่ายส่งเสริมและบริการวิชาการและ 3) ฝ่ายฝึกอบรม

          ช่วงที่ 2 ช่วงพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2527-2534

          ช่วงพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2527 – 2534 เป็นช่วงที่แผนกบริการการศึกษา  เปลี่ยนเป็นศูนย์ฝึกอบรมและบริการวิชาการและเปลี่ยนมาเป็นศูนย์วิจัยและบริการการศึกษา  หน่วยงานอื่นๆ  ก็มีการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นเดียวกัน  บทบาทหน้าที่ในส่วนของงานโครงการอบรมครูประจำการกลับคืนสู่สำนักส่งเสริมเต็มรูปแบบ ศูนย์วิจัยและบริการการศึกษาจึงได้ขอให้สถาบันจัดห้องสำนักงานให้และในที่สุดก็ได้รับอนุมัติให้อยู่อาคาร 4 ชั้น 4 ห้อง  442  (ปีกขวาบนสุด) คือ ห้องวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยและบริการการศึกษา ก็มีหน้าที่เพิ่มขึ้น  คือต้องดูแลงานวิจัยของสถาบันอีกส่วนหนึ่ง  จึงได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกหลายหมื่นบาท  แต่ยังไม่ถึงหลักแสน งบประมาณส่วนบริการการศึกษายังคงเกือบเท่าเดิม  จะเพิ่มขึ้นบ้างก็เพียงเล็กน้อย  และส่วนที่เพิ่มชัดเจนคือ  งบประมาณด้านการวิจัย   คืองบประมาณสนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย และงบประมาณการจัดอบรมให้อาจารย์ก็อยู่ในกระบวนการทำวิจัย  การประมวลผล การเขียนรายงานการวิจัย ฯลฯ

          สำหรับในส่วนของงานบริการการศึกษา นอกจากจะอบรมเพื่อให้ครู  กทม. ได้มีทักษะการสอนเพิ่มขึ้น  สามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้แล้ว ยังเพิ่มน้ำหนักไปที่การอบรมวิชาชีพที่กว้างขวางให้แก่ครู  ประชาชน และผู้สนใจทั่วไป  เช่น  อบรมตัดเย็บเสื้อผ้า  อบรมดัด เซ็ทผม อบรมแกะสลัก  อบรมการ ถักทอผักตบชวา อบรมการทำขนมไทย ฯลฯ

          และด้วยเหตุที่สำนักงานของศูนย์วิจัยและบริการการศึกษาอยู่ถึงชั้น 4  คณะกรรมการอาจารย์  และบุคคลภายนอกที่จะมาประสานติดต่อด้วยนั้น  เป็นไปด้วยความยากลำบาก ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง  แม้จะเป็นช่วงกลางวัน แต่ถ้าไม่มีนักศึกษาเรียน  อาจารย์ที่ต้องนั่งทำงานในสำนักงานตามลำพัง จะไม่มีความปลอดภัย ในขณะเดียวกับที่มีการเปลี่ยนอธิการใหม่  ในปี พ.ศ. 2533 มีการปรับสำนักงานรองอธิการบดีบางจุด และจากเหตุผลความไม่ปลอดภัยดังกล่าว เป็นผลให้ศูนย์วิจัยและบริการการศึกษา  ได้รับอนุมัติให้ย้ายสำนักงานลงมายังชั้น 1 คือ ห้องประชาสัมพันธ์ ต่อมาประมาณ  พ.ศ. 2534 มีการปรับสำนักงานอาคาร 4 อีกครั้ง ศูนย์วิจัยและบริการการศึกษา  จึงได้รับอนุมัติให้ย้ายขึ้นมา ณ  อาคาร 4  ชั้น  2  ห้อง  426

          ช่วงที่ 3  ช่วงสุดท้ายของการใช้พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู  พ.ศ. 2534-2537

          ช่วงที่ 3 นี้ ถือเป็นช่วงสุดท้ายของการใช้พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู ศูนย์วิจัยและบริการการศึกษา  ณ ที่ตั้งสำนักงาน อาคาร 4 ชั้น  2 ห้อง 426  ยังคงมีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญ 2  ประการคือ  วิจัยและงานบริการการศึกษา  ในส่วนของงานวิจัยในยุคนี้ ก็ได้มีการเน้นการอบรมสัมมนาความรู้ทางด้านการวิจัย  ให้แก่อาจารย์อย่างต่อเนื่อง  โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยในสาขาต่างๆ  มาให้ความรู้  ความเข้าใจ  รวมทั้งการขอรับทุนจากสถาบันเพื่อจัดสรรทุนสนับสนุนการทำวิจัยให้แก่อาจารย์ทำให้ได้รับงบประมาณมากขึ้นตามลำดับจนถึงหลักแสน  มีการโน้มน้าวเชิญชวนให้อาจารย์ทำวิจัยมาโดยตลอด และที่น่ายินดีคือ ในช่วงนี้ได้มีการจัดสรรงบประมาณอุดหนุนงานวิจัยหรือปัญหาพิเศษให้แก่นักศึกษาโดยผ่านกระบวนการอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัย  และมีการทำสัญญาเช่นเดียวกับงานวิจัยของอาจารย์

          ช่วงที่ 4 ช่วงพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. 2538-2541

          ในปี พ.ศ. 2538 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่  24  มกราคม 2538  มีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 มกราคม 2538 วิทยาลัยครูเปลี่ยนเป็นสถาบันราชภัฏในบททั่วไป มาตรา 7 “ให้สถาบันราชภัฏเป็นสถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการวิจัย ให้บริการวิชาการแก่สังคม ปรับปรุงถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี  ทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  ผลิตครู  และส่งเสริมวิทยฐานะครู”

          ตาม พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.. 2538 มีผลให้มีการปรับโครงสร้างและชื่อหน่วยงานหลายหน่วยงาน ศูนย์วิจัยและบริการการศึกษา ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักวิจัยและบริการการศึกษา แต่ยังคงมีภาระหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานสำคัญของสถาบันอุดมศึกษา 2 งานอย่างเดิม คือ งานวิจัยและงานบริการการศึกษา

          สำหรับงานวิจัยอื่นๆ  สำนักวิจัยฯ   ได้สนับสนุนส่งเสริมให้อาจารย์ได้สร้างงานวิจัยให้มากขึ้น โดยจัดวิทยากรให้การอบรมมากขึ้น ให้ทุนสนับสนุนมากขึ้น  และอำนวยความสะดวกอื่นๆ  เท่าที่จะทำได้  งานบริการการศึกษา  สำนักวิจัยฯ  ได้รุกลงไปยังกลุ่มคนผู้ด้อยโอกาสมากขึ้น เช่น โสเภณี  ผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษ  ชุมชน-แออัด  โดยเฉพาะชุมชนเสือใหญ่  มีการตั้งกลุ่มซาเล้งพัฒนา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น  ลดและเลิกสิ่งเสพติดทั้งปวง  กิจกรรมที่เป็นเครื่องมือให้เกิดการรวมกลุ่ม ได้แก่ งานสงกรานต์ วันน้ำทิพย์  การแข่งขันแรลลี่ซาเล้ง การอบรมอาชีพเสริมให้เกิดความเข้มแข็งแก่ครอบครัว

          ช่วงที่ 5 พ.ศ. 2542-2547

          ในปี พ.. 2542 ได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการแบ่งส่วนราชการในสถาบันราชภัฏจันทรเกษม  ให้แบ่งส่วนราชการเป็น  11 หน่วยงานหนึ่งในสิบเอ็ดหน่วยงานคือ สำนักวิจัยและบริการการศึกษา เปลี่ยนเป็นสำนักวิจัยและบริการวิชาการ บทบาทภาระหน้าที่ยังคงเหมือนเดิมคือดูแลรับผิดชอบงานวิจัยและงานบริการวิชาการ

          งานวิจัย ในปี  พ.ศ. 2541-2542 สำนักวิจัยฯ  ได้รับงบประมาณอุดหนุนการทำวิจัยของอาจารย์  เป็น 7 แสนบาท ในขณะเดียวกันงบประมาณอุดหนุนงานวิจัยหรือปัญหาพิเศษของนักศึกษาก็ปรับขึ้นเป็น  500,000  บาท  มีผลให้การจัดสรรทุนคล่องตัวมากขึ้น  งบประมาณการจัดอบรมให้ความรู้ด้านวิจัย  ตัวเลขอยู่ในระดับเดิม  โดยเฉพาะในปี  2542  สำนักวิจัยฯ  ได้เน้นให้อาจารย์ทำวิจัยชั้นเรียนให้มากที่สุด  โดยจัดวิทยากรจากสภาวิจัย  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เป็นพี่เลี้ยงดูแลให้คำแนะนำทุกขั้นตอนของกระบวนการวิจัยในชั้นเรียน  ใช้เวลา 1  ปี แต่คาบเกี่ยวระหว่างปีการศึกษา คือ  2542-2543  ส่วนของงานบริการวิชาการ งบประมาณบางส่วนถูกลดลงแต่กรอบงานยังคงเหมือนเดิม  ซึ่งสำนักวิจัยฯ  ก็ได้พยายามปรับลด  เพื่อให้งานทุกงานที่เคยบริการให้แก่ชุมชนทุกกลุ่มเป้าหมายยังคงดำเนินไปได้

          ในปี  พ.ศ. 2542  สำนักวิจัยและบริการวิชาการ  มีงานที่ริเริ่มอย่างโดดเด่นอีก  2  งาน  คือวันที่  12 พฤษภาคม 2542 ได้ริเริ่มจัดโครงการวิจัยราชภัฏพัฒนาท้องถิ่นขึ้น ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรตลิ่งชัน โดยเชิญสถาบันราชภัฏทั่วประเทศส่งงานวิจัยเข้าแข่งขัน  เสนอผลงานเฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี และชิงรางวัลเข็มทองคำ นับเป็นประวัติศาสตร์  ที่สถาบันราชภัฏ ได้แสดงศักยภาพทางด้านวิจัยร่วมกัน  ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคม เพื่อลบล้างความเชื่อเก่า ๆ  ที่ว่า  สถาบันราชภัฏอ่อนงานวิจัยตลอดจนได้รับความร่วมมือจากอาจารย์ผู้บริหารและผู้สนใจเข้าร่วมงานอย่างคับคั่งจึงถือเป็นการจุดประกายงานวิจัยราชภัฏให้เป็นประเพณีสืบไป

          วันที่ 19 ธันวาคม  2542 สำนักวิจัยฯ  ได้จัดโครงการสร้างสรรค์วันรำลึกฉลอง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542  สืบเนื่องจากโครงการสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์พัฒนาคลองฯ เฉลิมพระเกียรติ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน  2541

          การจัดโครงการสร้างสรรค์วันรำลึกคลองในครั้งนี้  เน้นให้เป็นประเพณีและวัฒนธรรมของคนไทยที่มีความผูกพันกับคลองมาแต่โบราณ  เช่น  ประเพณีชักพระทางน้ำ การบิณฑบาตรทางน้ำ  ตลาดน้ำ  การแข่งขันเรือพาย  เป็นต้น ฯพณฯ  พลอากาศตรีกำธน สินธวานนท์  องคมนตรี  ให้ความกรุณาเป็นประธาน  ใช้บริเวณหน้าวัดบางบัวเป็นที่จัดงาน ได้รับความร่วมมือและความสนใจจากประชาชนในพื้นที่อย่างมาก

          การจัดโครงการดังกล่าว  เป็นยุทธวิธีหนึ่งในการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนริมคลอง เริ่มมีความคิดและความตระหนักในความสำคัญของคลองและร่วมมือกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทิ้งของเสีย ทุกชนิดทุกประเภทให้ถูกวิธี  นับว่าได้รับความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง

          ช่วงที่ 6 ช่วงพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2548-ปัจจุบัน

          เป็นช่วงที่ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่ง ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา  แล้วเสนอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ลงนามโปรดเกล้าฯ ให้สถาบันราชภัฏทุกแห่งเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2548 และประกาศใช้เมื่อวันที่
9 มีนาคม พ.ศ. 2548  ทำให้โครงสร้างระบบบริหารภายในของมหาวิทยาลัยทุกแห่งเปลี่ยนไปด้วย  โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มีโครงสร้างภายใน 10 หน่วยงาน  และสำนักวิจัยและบริการ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นหน่วยงาน 1 ใน 10 หน่วยงานของมหาวิทยาลัย
ราชภัฏจันทรเกษม

 

ตำแหน่งผู้บริหารตามลำดับ

     พ.ศ. 2524 - 2528     ดร.อำนวย  เลิศชยันตี          หัวหน้าศูนย์วิจัย

     พ.ศ. 2528 - 2532     ดร.กฤตยา  อารยะศิริ          หัวหน้าศูนย์วิจัยและบริการการศึกษา

     พ.ศ. 2532 - 2536     ผศ.ศิริกุล  ผลิศักดิ์              หัวหน้าศูนย์วิจัยและบริการการศึกษา

     พ.ศ. 2536 - 2538     ผศ.ศิริกุล  ผลิศักดิ์              หัวหน้าศูนย์วิจัยและบริการการศึกษา

     พ.ศ. 2538 - 2542     ผศ.ศิริกุล  ผลิศักดิ์              หัวหน้าสำนักวิจัยและบริการการศึกษา

     พ.ศ. 2542 - 2546     ผศ.ศิริกุล  ผลิศักดิ์              ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและบริการวิชาการ

     พ.ศ. 2546 - 2548     รศ.ดร.นภาพร  สิงหทัต        ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและบริการวิชาการ

     พ.ศ. 2548 - 2550     รศ.ดร.นงเยาว์  จันทราช       ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา

     พ.ศ. 2550 - 2554     ผศ.ดร.ปัญญา  ธีระวิทยเลิศ   ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา

     พ.ศ. 2554 - 2558     ผศ.ดร.ปัญญา  ธีระวิทยเลิศ   ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา

     พ.ศ. 2558 - 2560     ผศ.ดร.วรนารถ  ดวงอุดม      ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา
     พ.ศ. 2561 - 2564     ศ.ดร.พรรณี บัวเล็ก             ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา
     พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน   ดร.วีระพงศ์ รุกขพันธ์          ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา